ไขมันทรานส์ อันตรายใกล้ตัว..เสี่ยงโรคร้าย ทำลายสุขภาพ
10 Jun, 2023 / By
aomsin
ไขมันทรานส์ (trans fat) เป็นหนึ่งในประเภทของไขมันทั้งหมดที่มีอยู่ด้วยกัน 3 ประเภทคือ ไขมันอิ่มตัว ไขมันไม่อิ่มตัว และไขมันทรานส์ ที่มีส่วนประกอบหลักคือ กรดไขมันไม่อิ่มตัวที่มีโครงสร้างชนิดทรานส์
ส่วนใหญ่ไขมันทรานส์จะเป็นไขมันที่ได้จากการสังเคราะห์ระหว่างกระบวนการผลิตอาหาร โดยการเติมไฮโดรเจนเข้าไปในน้ำมันพืช เพื่อทำให้น้ำมันพืชแข็งตัวมากขึ้น และทำให้ไขมันที่ได้ดังกล่าวช่วยยืดอายุของอาหารได้มากขึ้น และเพิ่มความคงตัวของรสชาติอาหารได้ ไม่เหม็นหืน ไม่เป็นไข ทนความร้อนสูง รสชาติใกล้เคียงกับไขมันที่มาจากสัตว์ นอกจากนี้ไขมันทรานส์ยังมีราคาถูกกว่าไขมันทั่วไป ดังนั้นวงการอุตสาหกรรม หรือผู้ประกอบการต่างๆ จึงนิยมใช้อาหาร หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของไขมันทรานส์มาประกอบอาหารต่างๆ เพื่อลดต้นทุนการผลิต
ไขมันทรานส์ จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามแหล่งที่มา ได้แก่
⚡️ไขมันทรานส์ ที่ได้จากธรรมชาติ ส่วนนี้มักพบได้น้อย เช่น ในเนื้อสัตว์เคี้ยวเอื้อง นม หรือผลิตภัณฑ์จากนม
⚡️ไขมันทรานส์ ที่ได้จากกระบวนการอุตสาหกรรม หรือการปรุงอาหารด้วยความร้อน เช่น ขนมหรืออาหารที่ใช้ เนยขาว มาการีน ครีมเทียม เบเกอรี่ต่าง ๆ รวมไปถึงเฟรนซ์ฟรายส์ แฮมเบอร์เกอร์และขนมกรุบกรอบ
อาหารที่มีไขมันทรานส์และควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ เนยขาว มาการีน ครีมเทียม นมข้นหวาน นมข้นจืด โดนัท ขนมเค้ก พาย คุกกี้ เฟรนซ์ฟรายส์ ไก่ทอด ป๊อปคอร์น แฮมเบอร์เกอร์ ขนมกรุบกรอบ ฯลฯ
สำหรับวิธีเลี่ยงไขมันทรานส์ที่อาจเจอได้ในชีวิตประจำวัน ผู้บริโภคควรปฏิบัติ ดังนี้
✅ อ่านฉลากโภชนาการก่อนซื้อ เช็คว่ามีไขมันทรานส์หรือไม่
✅ เลือกใช้น้ำมันพืช เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันมะกอก
✅ ลดการทานเนื้อสัตว์ติดมัน หันมาทานผัก ผลไม้มากขึ้น
✅ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนประกอบของ Partially Hydrogenated, Hydrogenated Oil
✅ เลือกเนยแท้แทนเนยเทียม หรือใช้เนยเทียมชนิดเหลว ไม่แข็งมาก (ยิ่งแข็งยิ่งมีไขมันทรานส์มาก)
นอกจากนี้ หากคิดว่าสามารถพลิกดูส่วนประกอบของอาหารจากตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการที่ผลิตภัณฑ์แล้ว แม้ว่าจะพบว่ามี Trans Fat หรือไขมันทรานส์เป็นเลข 0 แต่ก็ไม่ได้หมายความในอาหารนั้นๆ จะไม่มีไขมันทรานส์อยู่เลย เพราะผู้ผลิตอาศัยช่องโหว่ของการจำกัดตัวเลขในฉลากบรรจุภัณฑ์ว่า หากมีปริมาณของส่วนประกอบนั้นๆ น้อยกว่า 1 กรัมกล่าวคือตั้งแต่ 0.9 กรัมเป็นต้นไป จะสามารถปัดตัวเลขให้เหลือแค่ 0 โดยไม่ต้องแสดงจุดทศนิยมได้ ดังนั้นในหลายๆ ผลิตภัณฑ์จึงอาจจะมีไขมันทรานส์ได้มากถึง 0.9 กรัมต่อ 1 หน่วยบริโภคนั่นเอง
หากผลิตภัณฑ์นั้นๆ ใส่ในบรรจุภัณฑ์ที่แสดงอาหารทั้งหมดมี 2 หน่วยบริโภค คือต้องแบ่งทาน 2 ครั้ง นั่นอาจหมายถึงมีความเป็นไปได้ว่าเราอาจมีความเสี่ยงที่จะทานไขมันทรานส์เข้าไปมากถึง 1.8 กรัมนั่นเอง (หากเราทานคนเดียวหมดทั้งห่อ/กล่องนั้นๆ) แม้ว่าในฉลากของผลิตภัณฑ์จะแสดงตัวเลขว่ามีไขมันทรานส์ 0 กรัม นั่นเอง
ไขมันทรานส์ อันตรายไหม ?
แม้ดูเหมือนไขมันทรานส์มีประโยชน์และอำนวยความสะดวกได้มากในวงการอุตสาหกรรมอาหาร แต่ไขมันทรานส์เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสุขภาพของคนเราครับ การรับประทานอาหารที่มีไขมันทรานส์ จะเพิ่มไขมันไม่ดีในเลือด (LDL – Cholesterol) และลดไขมันดีในเลือด (HDL – Cholesterol ) นอกจากนี้ยังเพิ่มน้ำหนักและไขมันส่วนเกิน ทำให้รูปร่างเปลี่ยนไป อ้วนขึ้น
หลาย ๆ ประเทศทั่วโลกเริ่มมีการแบนไขมันทรานส์ออกจากอาหารต่าง ๆ หรือกำหนดให้ต้องติดฉลากบอกปริมาณไขมันทรานส์ที่ใช้ ซึ่งไขมันทรานส์เป็นต้นเหตุ และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ ดังนี้
💥 โรคอ้วน
💥 หัวใจ และหลอดเลือด เช่น หัวใจขาดเลือด หลอดเลือดหัวใจตีบ/ตัน
💥 หลอดเลือดสมองตีบ/ตัน
💥 ไขมันในเลือดสูง
💥 โรคเบาหวาน
💥 ความดันโลหิตสูง
💥 โรคสมองเสื่อม หรืออัลไซเมอร์
💥 จอประสาทตาเสื่อม
💥 นิ่วในถุงน้ำดี
ซึ่งโรคเหล่านี้อันตราย และหากมีอาการรุนแรงจะส่งผลต่อชีวิตได้ภายในเวลาไม่กี่นาที หากเราทานอาหารที่มีไขมันทรานส์ค่อนข้างมาก และไม่เคยตรวจสุขภาพหาค่าไขมันในเลือดมาก่อน
วิธีกำจัดไขมันทรานส์จากร่างกาย
ด้วยการใช้ชีวิตในปัจจุบันอาจทำให้เราหลีกเลี่ยงไขมันทรานส์ได้ยาก แต่ยังสามารถลดปริมาณหรือกำจัดส่วนที่เป็นไขมันเลวออกจากร่างกายได้ครับ โดย
✨ กินไขมันดีให้มากขึ้น ได้แก่ ไขมันจากปลา ธัญพืช น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว น้ำมันดอกทานตะวัน
✨ ทานอาหารที่ช่วยลดระดับไขมันในเส้นเลือด เช่น ถั่ว ธัญพืช โฮลเกรน เมล็ดฟักทอง กล้วย แก้วมังกร ลุกพรุน แอปเปิ้ล
✨ เลือกอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง เช่น ผักใบเขียว ผักและผลไม้ที่มีสีเหลือง ม่วง แดง ส้ม ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่
✨ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ช่วยให้ระดับไขมันเลวในร่างกายกายลดน้อยลงได้